การฉีดยา รักษาปลาป่วย

ปกติแล้วในเวลาที่พบว่าปลาป่วย ส่วนมากผมจะไม่ใช้วิธีฉีดยาปลา เพราะหลายสาเหตุเช่น ในการวางยาสลบปลาบ่อยๆ
อาจมีผลทำให้ปลาเหงือกอ้าได้ และเคยเจอผลข้างเคียงคือปลามีอาการช็อก กระโดด ตัวเกร็ง ซึ่งอาการนี้ซักพักก็หายปกติเอง
แต่ระหว่างที่ปลากำลังช็อกจะกระโดดแบบบ้าคลั้ง และถ้าจังหวะโดดออกนอกบ่อแล้วไม่มีคนเห็น น้องปลาก็ต้องจบชีวิตอย่างแน่นอน
และปลาที่โดนฉีดยาบ่อยๆ อาจมีอาการดื้อยาเกิดขึ้นได้

"ปลาป่วย" อันดับแรกหาสาเหตุและโรคที่ปลาเป็นให้แน่ชัดก่อน อย่าร้อนรน ทำโน้นนั้นนี้โดยที่ไม่รู้สาเหตุ
ปกติแล้วถ้าพบว่าปลาป่วย จับแยกขึ้นบ่อยางเพื่อรักษาจะดีที่สุด ให้ปลาได้อยู่ในน้ำสะอาดสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ง่าย
ตัวอย่างเช่น ปลาที่ตัวแดงมีเส้นเลือดขึ้น หรือที่เรียกว่าอาการตกเลือด เป็นอาการที่ชอบเกิดเวลาเอาปลาใหม่เข้าบ่อโดยไม่มีการกักโรค
ปลาเกิดการแลกเชื้อ อาจจะเป็นกับปลาที่มาใหม่หรือปลาเก่าในบ่อที่มีอาการ การรักษาคือ แช่เกลือ 5-7 กก. / น้ำ 1 ตัน หากมียาแอนตี้แบคทีเรีย
เราสามารถใช้ร่วมได้ เช่น Anti bac , Bio Knock เบอร์3, ยาเหลืองญี่ปุ่น หรือตามแต่ที่เราหาได้ หากหายาไม่ได้ ก็ใช้เกลืออย่างเดียวก็พอครับ
แช่ยาวๆจนกว่าปลาจะหาย งดอาหารโดยเด็ดขาดระหว่างการรักษา หากน้ำมีกลิ่นมีฟอง ให้ทำการถ่ายน้ำและคุมเกลือไว้ในอัตราส่วนที่เท่าเดิม


แต่เมื่อการแช่เกลือเอาไม่อยู่ ผ่านไป 1-2 อาทิตย์ อาการปลาก็ยังไม่ดีขึ้น เราสามารถใช้ยาปฏิชีวนะ ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้ง
และฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฉีดเข้าตัวปลาเพื่อช่วยในการรักษาได้ ยาเหล่านี้คือยาของคน หาซื้อได้ตามร้านขายยาใหญ่ๆทั่วไป

*ในกรณีที่ปลาป่วยหนักจนโทรมแล้ว (ตาโบ๋ แก้มตอบ ปากยื่น ลอยตัวนิ่ง) ไม่แนะนำให้ฉีดยา เพราะเท่าที่พบมาปลาจะตายเป็นส่วนมาก


ทีนี้มาต่อด้วยขั้นตอนและวิธีการฉีดยารักษาปลาป่วย
นำตัวอย่างปลา 1 ตัวที่ป่วยด้วยโรครู (ULCER) ซึ่งโรคนี้มักเกิดตอนคุณภาพน้ำไม่ค่อยดี ขยันหมั่นล้างช่องกรองเป็นประจำสามารถป้องกันได้
โรคนี้ปลาไม่มีอาการซึม ตัวไม่แดง กินอาหารร่าเริงปกติ เราต้องสังเกตุปลาที่เราเลี้ยงเองว่ามีแผลอะไรตรงไหนเกิดขึ้นบ้าง ลักษณะของ
โรครูคือ ปลาจะเป็นแผลเริ่มจากจุดแดงเล็กๆ แล้วค่อยๆขยายกินเนื้อเยื่อของปลาไปเรื่อยๆ จริงๆการรักษาสามารถใช้เพียงการทายาก็
สามารถหายได้ โดยการทายา เบตาดีนก่อน แล้วทายาม่วงปิดท้าย ทาติดต่อกันเรื่อยๆ จนแผลที่ตัวปลาหายแดงและแผลสมานตัวดี


แต่ถ้ามาเจอตอนปลาโดนกินเนื้อเยื่อไปมากแล้ว หรือเราสะดวกที่จะฉีดยา ก็ใช้วิธีฉีดยาร่วมกับการทายาจะให้ผลการรักษาที่เร็วยิ่งขึ้น
ผมเลือกใช้ ยากานามัยซิน (Kanamycin) ใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้กว้าง หาซื้อง่ายและเก็บไว้ได้นาน

ใช้น้ำกลั่นปริมาณ 5 ml ผสมกับ ยา 1 ขวด ในการดูดน้ำกลั่น ใช้เข็มขนาดใหญ่เพื่อความสะดวกในการดูดน้ำกลั่นมาลงขวดยา
แต่ให้ใช้เข็ม Insulin ขนาดเล็กเพื่อการฉีดตัวยาเข้าตัวปลา ใช้เข็มขนาด 0.5 ml จะสะดวกที่สุด


เมื่อเตรียมยาฉีดพร้อมแล้ว ก็มาจัดการกับปลาด้วยการวางยาสลบเพื่อการทำงานที่สะดวก
ในการวางยาปลาให้นำปลาใส่ถุงโดยที่น้ำในถุงแค่ท่วมหลังปลาก็พอ จะได้ไม่เปลืองยาสลบ เก็บไว้ใช้งานในครั้งหน้าได้อีกหลายครั้ง
ปริมาณยาที่ใช้ให้เราคาดเดาเอาไม่ต้องไปชั่งตวงให้เสียเวลา บีบลงไปนิดๆถ้าปลายังดิ้นก็บีบเพิ่ม รอดูจนปลานิ่งไม่ขยับ มีเพียงเหงือกขยับเบาๆ
เราก็พร้อมลงมือทำงานได้แล้ว ไม่ต้องให้ปลาหลับสนิดชนิดเหงือกไม่ขยับเดียวจะพลาดหลับยาว....!!!



ปริมาณยาที่ฉีดเข้าไปในตัวปลา ดูที่ขนาดของตัวปลาใช้อัตราส่วนยาที่ 0.1 ml ต่อ ขนาดปลา 10 cm.
ตัวอย่างเช่น ปลายาว 30 cm. ใช้ยา 0.3 ml ปลายาว 50 cm. ใช้ยา 0.5 ml

ตำแหน่งที่ฉีด บริเวณด้านล่างโคนครีบว่ายที่เป็นเนื้อนิ่มๆสะดวกต่อการแทงเข็ม แล้วค่อยๆปล่อยยาลงไป



หลังจากฉีดยาเสร็จ ก็ทายาเบตาดีนและทายาม่วง ที่บริเวณแผลและตำแหน่งที่ฉีดยา ช่วยฆ่าเชื้อที่แผลและช่วยสมานแผล
เสร็จแล้วก็ปล่อยปลาลงบ่อพัก ซักครู่เมื่อปลาได้น้ำสะอาดก็จะฟื้นตัวกลับมามาว่ายน้ำตามปกติ ช่วงนี้รักษาคุณภาพน้ำให้ดีที่สุด


ในบ่อพักปลาที่เราแยกมารักษาแช่เกลือที่ 3 กก. ต่อน้ำ 1 ตัน ระหว่างการพักรักษาปลา ฉีดยาแบบสลับวันเว้นวันให้ได้ 3 ครั้ง
แล้วรอดูอาการหากแผลดีขึ้นเรื่อยๆ หยุดการฉีดปลา ใช้การทายาช่วย จนหายปกติ ให้อาหารปลาได้แต่ให้น้อยๆ
ถ้าแผลยังไม่หาย ฉีดยาแบบสลับวันเว้นวันให้ได้ 3 ครั้ง ซ้ำแบบเดิมอีกรอบ